เส้นหาเลี้ยงชีพ

เส้นหาเลี้ยงชีพ

วันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ชาวเผ่าอาชาง (ชนกลุ่มน้อยในประเทศสาธารณะรัฐประชาชนจีน)#

 


ชาวเผ่าอาชาง (จีน)

ชาวเผ่าอาชาง อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองชนกลุ่มน้อยเผ่าไตและชนกลุ่มน้อยเผ่าจิ่งโพ (傣族景颇族自治州Dǎi Zú Jǐnɡpō Zú Zìzhìzhōu) ในตำบลหลงชวน (陇川Lǒnɡchuān) ตำบลเหลียงเหอ (梁河Liánɡhé) เมืองเต๋อหง (德宏Déhónɡ) มณฑลยูนนานของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนี้ยังมีกระจัดกระจายอยู่ที่หมู่บ้านอิ๋งเจียง(盈江Yínɡjiānɡ) ลู่ซี (潞西Lùxī) รุ่ยลี่(Ruìlì) ป่าวซาน(保山Bǎoshān) ของตำบลหลงหลิง(龙陵Lónɡlínɡ) และเถิงชง (腾冲Ténɡchōnɡ) จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าอาชางมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 33,936 คน ภาษาอาชางจัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาทิเบต-พม่า แขนงภาษาพม่า มีสำเนียงภาษาย่อย 3 สำเนียงคือ สำเนียงเหลียงเหอ(梁河Liánɡhé) สำเนียงหล่งชวน (陇川Lǒnɡchuān) และสำเนียงลู่ซี (潞西Lùxī) ชาวอาชางไม่มีภาษาอักษรเป็นของตนเอง ภาษาหนังสือที่ใช้สื่อสารกันคืออักษรจีนและอักษรไต ชนกลุ่มน้อยเผ่านี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชนกลุ่มน้อยเผ่าจิ่งโพ ชาวฮั่น ชาวไตและชาวป๋ายมาแต่ครั้งประวัติศาสตร์แล้ว

จากบันทึกพงศาวดาร หยวินหลงในสมัยราชวงศ์ชิงเรียกชนกลุ่มนี้ว่า ชาวเอ๋อชาง” (俄昌人 Échānɡ rén) ในพงศาวดารบันทึกไว้ว่าชาวเอ๋อชางมีหัวหน้าเผ่าชื่อ จ่าวข่าย (早慨( Zǎo Kǎi) ปกครองเรื่อยมาจนถึงปลายราชวงศ์หยวน รวมสืบทอดชาวเอ๋อชางรวม 35 รุ่น จ่าวข่ายตั้งกฎเกี่ยวกับการสืบทอดหัวหน้าเผ่าโดยการสร้างตราหัวหน้าเผ่าเป็นป้ายเหล็ก เรียกว่า เถี่ยอิ้นเจวี้ยน 铁印券Tiě yìn quàn อันเป็นการเริ่มสืบทอดกฎการเลือกหัวหน้าเผ่าของชาวเอ๋อชาง ซึ่งวิธีการสืบทอดหัวหน้าเผ่านี้ก็คือจากพ่อสู่ลูกนั่นเอง ในยุคนี้ชาวเอ๋อชางมีความเข้มแข็งและมั่นคงอยู่มาได้ประมาณสิบกว่าปี กระทั่งศตวรรษที่สิบ ถูกรุกรานและควบคุมจากหวางต้วนซื่อ(王段氏Wánɡ Duànshì)แห่งเมืองต้าหลี่ ในช่วงนั้นพ่อค้าจากต่างเมืองเข้ามาติดต่อกับชาวเอ๋อชางมากมาย และได้สอนให้ชาวเอ๋อชางรู้จักการทำนา และการกสิกรรม ในสมัยราชวงศ์หยวนและหมิง ก่อตั้งหมู่บ้านหยวินหลง ชาวป๋ายและชาวฮั่นได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวเอ๋อชางเดิม จึงได้ย้ายหนีไปอยู่ที่อื่น สายหนึ่งย้ายไปที่เมืองเถิงชง (腾冲Ténɡchōnɡ) อีกสายหนึ่งกระจัดกระจายอาศัยอยู่รวมกับชาวป๋ายและชาวฮั่น

ก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน บริเวณที่ชาวอาชางอาศัยอยู่ส่วนใหญ่เป็นสังคมแบบศักดินา ในขณะเดียวกันระบบเจ้าของที่ดินก็พัฒนาไม่แพ้กัน เริ่มมีการซื้อขายที่ดิน การเช่าที่ดินเกิดขึ้น ชาวอาชางเริ่มเช่าที่ดินของชาวไตและชาวฮั่นทำมาหากิน ชาวอาชางมีความสามารถในเรื่องการทำนา การทำยาสูบ การฝีมือ โดยเฉพาะ มีดอาชางเป็นเครื่องใช้ที่ได้รับความนิยมมาก นอกจากนี้การผลิตชาและอ้อย ก็เป็นอีกผลผลิตหนึ่งที่สร้างเศรษฐกิจให้ชาวอาชางเป็นอย่างดี นอกจากนี้หญิงชาวอาชางยังมีฝีมือด้านการเย็บปักถักร้อยซึ่งนับเป็นงานหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงของชาวอาชางเลยทีเดียว

ก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลจีนก่อตั้งตำบลหลงชวนขึ้นเป็นเขตปกครองตนเองเผ่าอาชาง หลังจากนั้นก็เริ่มยกฐานะบริเวณที่มีชาวอาชางอาศัยอยู่ให้เป็นเขตปกครองตนเองเผ่าอาชาง เหตุการณ์สำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตของชาวเผ่าอาชางครั้งยิ่งใหญ่ก็คือการยกเลิกระบบเจ้าของที่ดินและระบบศักดินาที่ดินในปี 1955 และได้มีการก่อตั้งโรงงานขนาดเล็กผลิตเหล็กกล้า เครื่องมือเกษตร การกลั่นน้ำมัน การทำสบู่ การผลิตน้ำมันสน การย้อมผ้า รัฐบาลจีนได้ให้ความช่วยเหลือด้านการสาธารณสุข โดยอบรมเจ้าหน้าที่ที่จะดูแลเรื่องสาธารณสุขชาวอาชาง และการป้องกันโรคติดต่อต่างๆ ตลอดจนการพัฒนาทางการศึกษาให้ชาวอาชางได้มีโอกาสเข้าศึกษา และรู้หนังสือในโรงเรียนของรัฐ จากการสนับสนุนของรัฐบาล อุตสาหกรรมที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นฝีมือชิ้นเอกของชาวอาชาง ได้สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับชาวอาชางเป็นอย่างมาก

ในด้านวัฒนธรรมดนตรีและการรื่นเริงของชาวอาชางก็มีความหลายหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นกลอน เพลงร้องเผ่าอาชาง นิทานตำนานพื้นบ้านที่เป็นวรรณกรรมมุขปาฐะ เช่น ตำนานอิงประวัติศาสตร์เรื่อง《遮帕麻和遮咪麻》Zhēpàmá hé Zhēmīmá เจ๊อพ่าหมากับเจ๊อหมี่หมานิทานกลอนเรื่อง 铁匠战龙王》Tiějiɑnɡ zhàn lónɡwánɡ สงครามช่างเหล็กกับจ้าวมังกรนิทานพื้นบ้านเรื่อง 亲堂姊妹》Qīn tánɡ zǐmèi พี่น้องสองสาวนิทานสัตว์เรื่อง 《麂子和豹子换工》Jǐzǐ hé bàozi huànɡōnɡ เลียงผากับเสือดาวแลกงานเรื่อง 《老熊撕脸皮》Lǎo xiónɡ sī liǎnpí หมีใหญ่ถอดหน้ากากเป็นต้น

การขับร้องเพลงของชาวอาชางมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในยามทำงานท่ามกลางธรรมชาติ หนุ่มสาวชาวอาชางจะร้องเพลงตอบโต้กัน เนื้อหาเพลงที่ร้องก็จะเกี่ยวกับ ภูเขา แม่น้ำ ลำธารท่วงทำนองบริสุทธิ์ แต่พอพลบค่ำหลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานแล้ว ชาวอาชางกระซิบกระซาบด้วยเสียงเพลงแผ่วเบาบอกรักกันและกัน บางครั้งร้องกันเพลินจนโต้รุ่งเลยก็มี ในคราวสนุกสนานรื่นเริงชาวอาชางก็มีเพลงที่เปรียบเปรย แฝงความหมายลึกซึ้ง บ้างก็เป็นคติสอนใจ บ้างก็เป็นเรื่องขบขัน ดนตรีของชาวอาชางก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ชาวอาชางสร้างเครื่องดนตรีขึ้นด้วยฝีมือของชาวอาชางเองเช่น พิณไม้ไผ่ ปี่น้ำเต้า พิณสามสาย กลอง ฆ้องเหล็ก เป็นต้น การเต้นรำระบำของชาวอาชางล้วนเกี่ยวพันกับธรรมชาติ การเต้นเลียนแบบท่าทางของลิงเรียกว่า ระบำลิงเป็นระบำที่นิยมมากในหมู่หนุ่มสาวชาวอาชาง การรื่นเริงอีกอย่างของชาวอาชางคือกีฬาพื้นบ้าน ชาวอาชางชอบการแข่งม้า ฟันดาบ ยิงธนู โล้ชิงช้า

ชาวอาชางมีฝีมือในด้านศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านหลายอย่าง เช่น การปักผ้า การปั้นภาชนะเคลือบ ย้อมผ้า แกะสลัก เครื่องเงิน โดยเฉพาะงานแกะสลักของชาวอาชางได้รับความนิยมนำไปประดับประดาตามสิ่งปลูกสร้าง สร้างกลิ่นอายของความเป็นชนเผ่าได้อย่างมีเอกลักษณ์ ในขณะเดียวกันก็มีความกลมกลืนและลงตัวอย่างน่าอัศจรรย์

การแต่งกายของชาวอาชางมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ชายสวมกางเกงคล้ายกับกางเกงม่อฮ่อมสีดำแต่ขายาวกว่า ส่วนเสื้อก็เหมือนกับเสื้อม่อฮ่อมสีดำ สีขาว หรือสีน้ำเงิน ส่วนผู้หญิงเป็นพิเศษมากกว่า คือจะมีชุดที่ใส่ในแต่ละเทศกาลต่างๆ กันไป ชาวอาชางที่ต่างพื้นที่กันก็อาจมีเครื่องแต่งกายที่แตกต่างผิดเพี้ยนกันไปบ้าง หญิงที่แต่งงานแล้วจะสวมผ้าถุงยาว สวมเสื้อรัดรูปแขนกระบอก ส่วนหญิงที่ยังไม่แต่งงานสวมกางเกงม่อฮ่อมคล้ายของผู้ชาย สวมเสื้อรัดรูปแขนกระบอกสีอ่อน หญิงชายชาวอาชางจะมีผ้าโพกหัวที่ประดับประดาไปด้วยดอกไม้ป่า สีฉูดฉาดดูสวยงามมาก

ชีวิตความเป็นอยู่และอาหารการกินของชาวอาชางส่วนใหญ่เป็นของป่าที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เช่น เผือก มัน ผักป่าต่างๆ เนื้อสัตว์ และจำพวกอาหารดองก็มี นอกจากนี้ชาวอาชางชอบเคี้ยวหมากมาแต่ดั้งเดิมแล้ว ไม่เพียงแต่คนแก่เท่านั้น เราจะเห็นเด็กหนุ่มสาวชาวอาชางยิ้มเห็นฟันดำที่เกิดจากการเคี้ยวหมากแทบทุกคน บ้านเรือนของชาวอาชางก่อด้วยอิฐ มีโครงทำด้วยไม้ สร้างเป็นห้องสี่เหลี่ยมยกพื้นสูง แบ่งเป็นสองฝั่ง ครึ่งหนึ่งเป็นห้องนอน อีกครึ่งหนึ่งเป็นชายคาทำอาหาร ใต้ถุนเลี้ยงหมู ถัดไปไม่ไกลเป็นคอกวัว ชาวอาชางช่วยกันสร้างทางสัญจรในหมู่บ้านด้วยการใช้หินมาเรียงต่อกันเป็นถนน ชายชาวอาชางเวลาออกจากบ้านจะพกอาวุธที่ทำขึ้นเองนั่นก็คือ มีดอาชางชาวอาชางทำไร่ทำนาในป่าเขา ภาพหนุ่มสาวที่แบกตระกร้ากลับจากเก็บผลผลิตเป็นภาพชีวิตประจำวันตามปกติ การจราจรไปในที่ไกลๆ ใช้ล่อเป็นพาหนะ

หนุ่มสาวชาวอาชางพบรักกันอิสระตามงานเทศกาลต่างๆ หลังจากนั้นพ่อแม่จะเป็นผู้จัดงานแต่งงานให้ เดิมทีจะไม่แต่งงานกับคนแซ่เดียวกัน แต่ภายหลังถือเอาแบบอย่างตามชาวฮั่นและชาวไตแต่งงานกับคนแซ่เดียวกันได้ หญิงหม้ายสามารถแต่งงานใหม่ได้ แต่ไม่สามารถนำทรัพย์สมบัติของสามีเก่าติดตัวไปได้ รวมทั้งลูกก็ต้องยอมมอบให้บ้านสามีเป็นผู้เลี้ยงดู คนที่เสียชีวิตโดยปกติจะฝัง แต่ถ้าเสียชีวิตแบบไม่ปกติจะจัดพิธีศพโดยการเผา

ชาวอาชางที่เมืองฮู่ล่าซา(户腊撒Hùlàsā) นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท จะมีพิธีทางศาสนาที่มีระยะเวลากำหนดแน่นอนทุกๆปี ส่วนชาวอาชางที่เมืองเหลียงเหอ ยังนับถือผี ทุกๆปี เมื่อเริ่มฤดูเพาะปลูกและถึงฤดูเก็บเกี่ยวจะมีการไหว้ เทพธรณีหรือ ผีดินเป็นประจำไม่ได้ขาด โดยชาวอาชางจะรวมตัวกันที่ท้องนาแล้วเชือดไก่ เซ่นเหล้า เพื่อบูชาและอ้อนวอนให้เทพธรณีปกปักรักษาคุ้มครอง นอกจากนี้ยังได้รับอิทธิพลของชาวฮั่น ชาวอาชางจึงเริ่มมีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษตามแบบชาวฮั่น

หมู่บ้านอาชางทุกปีจะมีงานเทศกาลรื่นเริงมากมาย เช่น งานวัด งานสงกรานต์ เทศกาลเผาคบเพลิง เทศกาลรดน้ำดอกไม้ เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะฉลองเทศกาลที่ว่านี้ร่วมกับชนเผ่าใกล้เคียง คือชาวฮั่นและชาวไต

------------------------------------------------------------------------- 

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

รองศาสตราจารย์ ดร.เมชฌ สอดส่องกฤษ, สาขาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี 34190, Chinese section,Faculty of Liberal Arts,Ubonratchathani University Warinchamrap ,Ubonratchathani Province 34190 Thailand, Thailand

สารานุกรมชนกลุ่มน้อยในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

https://metchs.blogspot.com/2011/11/1.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น